ราชินีศุภยาลัต
จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน
จาก Thibaw's Queen โดย H.Fielding
แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ
พิมพ์ครั้งที่ 3
สำนักพิมพ์ มติชน 2559
ISBN 978-974-02-1501-1
ราคา 200 บาท ลดเหลือ 100 บาท + ค่าส่งลงทะเบียน 40บาท
รวม 140 บาท
โลกขนานนามเธอว่า...ราชินีเลือดเย็น แล้วโยนข้อหา “ต้นเหตุ” แห่งการเสียแผ่นดินสิ้นเอกราช
แต่ในแวดล้อมของผู้คนที่เคารพเทิดทูน รักและภักดี เธอคือมิพญา ราชินีผู้อยู่เหนือสตรีอื่นใด
พระนางศุภยาลัตคือตัวละครหน้าเก่าในแวดวงประวัติศาสตร์พม่าและอาณานิคมศึกษา นับแต่ราชอาณาจักรพม่าตอนบนถูกจักรวรรดิอังกฤษเข้ายึดครอง ประดาข้อมูลและความรับรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพระนางยังคงเข้มข้นและน่ากังขามาจนถึงปัจจุบันนี้ ถือเป็นบุคคลผู้น่าค้นหาในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ควรค่าแก่การค้นคว้าอย่างยิ่ง
เล่มนี้จะเรียกว่าเป็นชีวประวัติก็ไม่เชิง เพราะไม่ได้กล่าวถึงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จะเรียกประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ เนื้อหายังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ข้อสันนิษฐานเพียงพอ เอาเป็นว่า เล่มนี้ออกแนวเรื่องเล่า เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ก็แล้วกันค่ะ
หากใครไม่รู้จัก “ราชินีศุภยาลัต” ก็ขอเล่าคร่าวๆ ดังนี้
ราชินีศุภยาลัต คือ ราชินีแห่งพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่าค่ะ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางค่อนข้างมีสีสันมากทีเดียว ในช่วงที่พระบิดาแห่งพระเจ้าธีบอเสด็จสวรรคต ภายในพม่าแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าสนับสนุนบุตรคนนั้นคนนี้ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (ดูเหมือนพระองค์จะไม่ได้ตั้งรัชทายาท คือ จริงๆ ตั้ง แต่ดันตายเสียก่อนแล้วก็ไม่ได้ตั้งใครอีก) แต่ทีนี้ตัวละครสำคัญก็คือ มารดาของเจ้าหญิงศุภยาลัตนี่แหละ ที่สามารถฉวยโอกาสได้เร็วที่สุด นั่นคือ การสนับสนุนพระเจ้าธีบอให้ขึ้นเป็นกษัตริย์
พระเจ้าธีบอซึ่งเคยอยู่ในร่มโพธิสมภาร บวชเรียนแต่เล็กแต่น้อย แล้วก็เป็นคนเรื่อยๆ ง่ายๆ จึงเป็น candidate ชั้นดีที่จะถูกยกให้เป็นตุ๊กตาเพื่อให้พระนางชักใยโดยการให้แต่งงานกับลูกสาวทั้งสามคน แล้วลูกสาวก็ทะเยอทยานเหมือนแม่ แต่คนที่มีพลังที่สุดที่สามารถครอบงำความคิดของพระสวามีได้ นั่นคือ ราชินีศุภยาลัต ธิดาองค์กลางนั่นเอง
สิ่งที่เป็นไฮไลท์ที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ การสังหารหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่อาจจะกลายเป็นกบฏซึ่งมีพิษภัยต่อราชบัลลังก์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เขย สะใภ้ ไม่เว้นแม้แต่หลานก็ถูกจัดการเรียบ (แต่เหลืออยู่ 2 คนที่หลบหนีได้)
เป็นคืนที่พิสดารมาก มีวงมโหรีเล่น 3 วัน 3 คืน (มั้ง คือ ออกแนวทำให้ดูมีสีสัน แต่จริงๆ กี่วันไม่รู้จิ) เพื่อกลบเสียงการสังหารหมู่ครั้งนี้ ชาวบ้านได้แต่ขวัญผวาเพราะวงมโหรีใช่ว่าจะเล่นดังได้ตลอดเวลา บางจังหวะก็มีแผ่วบ้าง แล้วมีเสียงของคนถูกฆ่าดังขึ้นมา ซึ่งว่ากันว่าพระเจ้าธีบอไม่รู้เรื่องนี้ คนที่เป็นคนจัดการน่าจะเป็นพระมารดากับลูกสาวสมรู้ร่วมคิดกันจัดการเสี้ยนหนามของตน
เมื่อพระเจ้าธีบอครองราชย์ พระชันษาอยู่ที่ประมาณ 20 ปีเท่านั้น ชีวิตอยู่ในวัง ไม่เคยออกสู่โลกภายนอก ในเวลาที่บ้านเมืองต้องตั้งรับกับศึกนอกอย่างพวกอังกฤษ สตรีที่ยึดครองวังก็เสพสุขกับอำนาจที่มีโดยไม่ได้รู้เลยว่าสถานการณ์ด้านนอกเป็นอย่างไร บรรดาขุนนาง เสนาบดีก็โกงกินสารพัด เงินที่ให้แก่กองทัพก็หายไปกับกลีบเมฆ เงินที่ใช้บริหารประเทศไปอยู่ในมือขุนนางให้ได้เสพสุข แต่ถึงอย่างนั้นพระนางศุภยาลัตก็ยังเชื่อว่าพม่าแข็งแกร่งที่สุด
จนกระทั่งกาลมาถึงจุดแตกหักที่อังกฤษเตรียมทำสงคราม พม่าภายใต้การตัดสินใจของพระนางศุภยาลัตก็ยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวทำสงครามกับอังกฤษ แล้วผลสุดท้ายก็เป็นที่รู้กันว่านับตั้งแต่นั้น พม่าก็ไม่มีกษัตริย์อีกต่อไป ทั้งพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตถูกเนรเทศออกจากประเทศแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย ส่วนบ้านเมืองของพม่าก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปครึ่งค่อนศตวรรษ
จากเรื่องนี้ พระนางศุภยาลัต จึงถูกชี้หน้าจากทุกคนว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาณาจักรพม่าล่มสลาย อาการคล้ายๆ กับที่ชี้หน้าซูสีไทเฮายังไงยังงั้น มือของสตรีที่ไม่ต่างจากกบในกะลาแต่ผยองตนเองเสมือนอึ่งอ่างเป็นคนที่นำพาบ้านเมืองไปสู่จุดจบที่น่าเศร้า ชื่อเสียงในความโหดเหี้ยมที่ประกอบไปด้วยความเขลาของราชินีศุภยาลัตขจรขจายไปไกล
แต่หนังสือเล่มนี้ ต่างจากเรื่องเล่าข้างบน เพราะเป็นเรื่องที่เล่าโดยผ่านมุมมองของนางกำนัลที่อยู่รับใช้ราชินีศุภยาลัต ไม่ใช่จากปากของคนนอกที่มองพระนางเช่นศัตรู
นางกำนัลผู้นี้มีหน้าที่มวนบุหรี่ให้กับพระนางศุภยาลัต เข้ามาทำงานตอนอายุประมาณ 9 ปี แล้วก็จากพระนางศุภยาลัตตอนประมาณ 13 ปี ด้วยความที่เป็นเด็ก ทำให้หลายครั้งได้มีส่วนร่วมอยู่ในการประชุมขุนนางครั้งสำคัญๆ เดาว่าพวกผู้ใหญ่คงไม่ค่อยสนใจอะไรเพราะเด็กคงไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว นางกำนัลคนนี้จึงเป็นปากคำที่น่าสนใจยิ่งสำหรับหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้นหลังจากที่พม่าเสียเมืองได้ประมาณ 14 – 15 ปี ในความทรงจำของคนก็คงมีอะไรตกหล่นอยู่พอสมควรแหละ
จากมุมมองเดิมที่เห็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่ทะเยอทยานกระหายอำนาจ แต่หนังสือเล่มนี้ ให้มุมมองเหตุผลของการกระทำของพระนางศุภยาลัตคือ
ผัวข้า...ใครอย่าแตะ!
เรื่องเริ่มจากเจ้าหญิงศุภยาลัตรักพระเจ้าธีบอมาตั้งแต่ตอนที่ยังทรงผนวชอยู่ บางครั้งก็ไปทำบุญ ส่งของคาวของหวานให้ ไม่ได้นึกถึงว่าพระเจ้าธีบออาจจะเป็นกษัตริย์ในอนาคต (เพราะเอาเข้าจริง จากลำดับชั้น จากความสามารถ พระเจ้าธีบอคือม้านอกสายตาสุดๆ) แต่จนเมื่อมารดาของเจ้าหญิงยกพระเจ้าธีบอขึ้นเป็นกษัตริย์ นั่นแปลว่าจะต้องสมรสกับพี่สาวของเจ้าหญิง (เจ้าหญิงศุภยาลัตเป็นลูกสาวคนรอง) แต่เพราะความรักนั่นแหละ ทำให้ทำทุกอย่างจนสุดท้ายได้ครองคู่กับพระเจ้าธีบอในที่สุด แต่ยังไม่ใช่ในฐานะราชินีเพราะพระเจ้าธีบอในตอนนั้นยังไม่ผ่านพิธีราชาภิเษก เลยต้องยอมให้แต่งงานกับพี่สาว แต่พี่สาวก็เหมือนเป็นตุ๊กตา แต่งเสร็จก็หมดประโยชน์ เลยให้กลับบ้านไป ทุกคนในวังจึงรู้กันว่าราชินีศุภยาลัตต่างหากคือ ราชินีตัวจริงของแผ่นดินนี้
ทุกอย่างที่พระนางทำหลังจากนี้ มีเหตุผลแค่ 2 อย่างเท่านั้น
1. สตรีใดอย่าได้คิดจะแย่งพระเจ้าธีบอจากพระนาง
2. ใครก็ตามที่ทำให้บัลลังก์ของพระเจ้าธีบอสั่นคลอน มันต้องถูกกำจัด
เพราะงั้นความเหี้ยมโหดใดๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความรู้สึกรักและหวงแหนอย่างแรงกล้าของพระนาง นางกำนัลไม่ได้ปฏิเสธความดุกร้าวของพระนาง ราชินีศุภยาลัตเหี้ยมโหด แต่เฉพาะกับคนที่เป็นภัยต่อพระเจ้าธีบอ หรือเป็นภัยต่อหัวใจของพระนางเท่านั้น และความกร้าวนี้ แม้แต่มารดา พี่สาวหรือน้องสาวก็ไม่ได้ยกเว้น
เราเคยมีภาพที่มองว่าสี่แม่ลูกครองงำพระเจ้าธีบอ แต่จริงๆ แล้ว เจ้าหญิงองค์ใหญ่ถูกจับให้อภิเษกเพื่อโบราณราชประเพณี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร ส่วนน้องสาวนี่ยิ่งซวย เหตุมันเกิดจากพระมารดาของพระนางยังคงต้องการมีอิทธิพลต่อบัลลังก์กษัตริย์ (ไม่งั้นไม่ยกพระเจ้าธีบอขึ้นเป็นกษัตริย์หรอก) แต่หมากที่คาดไม่ถึงคือ การที่ลูกสาวคนรองของตัวเองเป็นไม้กันหมา ไม่ยอมให้ใครมายุ่งกับบัลลังก์ได้ พระมารดาเลยต้องใช้แผนอื่น
แผนที่ว่าคือ จะไปดึงเจ้าชายที่รอดจากการสังหารหมู่มาเป็นกษัตริย์ และเพื่อจะได้มีอำนาจต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ตั้งใจว่าจะให้ลูกสาวคนเล็กแต่งงานกับเขา (เจ้าหญิงใหญ่ เจ้าหญิงรองแต่งให้กับพระเจ้าธีบอไปแล้ว) แต่พระราชินีศุภยาลัต แก้เกมโดยการเอาน้องสาวมาแต่งงานเป็นเมียของธีบออีกคนหนึ่งเพื่อตัดหมากในมือของมารดา ดังนั้น ต่อให้ยกใครขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ตาม พระมารดาจะไม่เหลือตัวช่วยที่ทำให้อำนาจของบัลลังก์มาอยู่ในมือได้อีก เจ้าหญิงพระองค์เล็กเลยต้องเป็นเมียพระเจ้าธีบอแบบกล้ำกลืนด้วยวิธีนี้ (เพราะราชินีศุภยาลัตก็เล่นงานน้องสาวที่ถือว่าแย่งเวลาผัวไปจากตนเหมือนกัน ต่อให้ตัวเองเป็นคนยกน้องสาวให้ผัวตัวเองก็ตาม)
จากมุมมองของนางกำนัล ภายในวังสงบสุขมาก เป็นโลกปิดที่ไม่รู้อะไรในโลกภายนอกเลย ยังเล่นทำกับข้าว เล่นซ่อนหากันอยู่ในรั้ววังในขณะที่เหตุการณ์บ้านเมืองภายนอกมันเริ่มตึงเครียดขึ้นแล้ว
ดูเหมือน ‘หูตา’ ของพระนางศุภยาลัตจะอยู่ภายในอาณาจักรมากกว่า คือ ใครก็ตามที่จะมาแย่งบัลลังก์เทือกๆ นั้นน่ะ แต่อาจจะไม่มีสายที่ช่วยเหลือในเรื่องการเมืองนอกอาณาจักรเลย ไม่เคยเห็นว่าอาวุธของอังกฤษเป็นแบบไหน ไม่เคยเห็นทหารของตนเองว่าสู้รบอย่างไร
แม้กระทั่งนำพลออกรบแล้ว ข่าวจริงไม่จริงที่มาสู่พระราชวังก็ไม่อาจยืนยันได้ บางครั้งแม่ทัพที่พ่ายแพ้ก็ส่งข่าวลวงมาบอกว่าตนเองชนะเพื่อไม่ให้ตนเองถูกลงโทษ กลายเป็นว่าพระนางกลับต้องหลอกเด็กเล็กๆ มาถามว่าพ่อแม่พูดยังไงบ้างเพราะรู้ว่าพวกขุนนางหรือข้าราชบริพารไม่กล้ากราบทูลความจริงกับตน แต่สุดท้ายพระนางก็ยังเลือกทำหน้าแช่มชื่นกับพระสวามีว่าอาจจะมีข่าวดีในเรื่องการสู้รบ
จริงๆ แล้วทั้งคู่ก็คือเด็ก เด็กที่ไม่เคยเห็นโลกภายนอก ทิฐิที่นึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้ใดทำให้ก้าวพลาด ไม่ฟังคำทัดทานจากเสนาบดีหรือขุนนาง แล้วสุดท้ายก็พบกับจุดจบ
กระนั้น คำพูดของพระราชินีที่มีต่อนางกำนัลหลังจากรู้ว่ากองทัพอังกฤษมาจ่อคอหอย ก็คือ ให้พวกกำนัลหนีไป ใครที่มีที่ไปก็ให้ไปจากวังนี้เสีย เพราะตอนนี้พระนางคุ้มครองไม่ได้อีกแล้ว
มุมมองของนางกำนัลที่มีต่อพระนางศุภยาลัต คือ ความนับถือ ความเลื่อมใส ความกลัว ความรัก เพราะไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเขียนถึงพระนางในแง่โหดร้ายแค่ไหน แต่สำหรับนางกำนัลผู้นี้ พระนางก็มีอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่รักสามียิ่งกว่าสิ่งใด ที่ต้องดำรงตนท่ามกลางเสือสิงห์กระทิงแรดที่หมายตาบัลลังก์พม่า แต่ก็ยังคงมีความเป็นเด็ก ยังคงหาอะไรเล่นสนุกๆ หรือยังเอ็นดูต่อข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดมาตลอด
นอกจากนี้คือ ตัวแทนของสตรีที่เกลียดเรื่องนอกใจของสามีอย่างที่สุดของที่สุด และบางครั้งก็ช่วยเหลือสตรี (ส่วนมากนางกำนัลที่แต่งงานออกจากวังไป) ที่ถูกสามีไปมีคนอื่นโดยการลงโทษบ้างอะไรบ้าง ถ้าดูในแง่มุมนี้ เหล่านางกำนัลจะรักพระนางก็ไม่แปลกเพราะคนที่อยู่ในความคุ้มครองของพระนาง จะได้รับการปฏิบัติดีกว่าใคร ในทางกลับกัน ถ้าเป็นศัตรูกับพระนาง ก็ถูกฟาดฟันแบบถึงพริกถึงขิงเหมือนกัน
ในตอนท้ายที่สุด นางกำนัลผู้นี้เล่าให้ฟังว่า พระนางศุภยาลัตตีอกชกหัวตัวเอง เสียใจอย่างยิ่งที่ตนเองเป็นคนนำภัยมาสู่พระสวามี นำมาสู่บ้านเมือง จนเมื่อนางกำนัลจำเป็นต้องหนีออกนอกวัง ได้พบพระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยาลัตอีกทีไกลๆ เมื่อทั้งคู่ถูกจับใส่เกวียนที่ชาวบ้านไว้ใช้ขนของ นำสู่ท่าเรือเพื่อเดินทางออกจากพม่าไป เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ของพม่า และเป็นครั้งสุดท้ายที่นางกำนัลผู้นี้ได้พบกับนายเหนือหัวของตนเช่นกัน
เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่าน โดยเฉพาะคนที่เคยอ่าน “พม่าเสียเมือง” หรือรู้ประวัติศาสตร์พม่าจากหนังสืออื่นๆ ของไทยมาก่อนจะยิ่งให้มุมมองที่น่าสนใจเป็นพิเศษค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น